ในการออกแบบห้องครัว สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ วิธีแบ่งโซนของการใช้งานต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงการติดตั้งและจัดวางอุปกรณ์เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย เพื่อลดอุบัติเหตุ ทาง เพาเวอร์ สเตนแลส สตีล จะมาแนะนำหลักการง่าย ๆ สำหรับการแบ่งโซนห้องครัว ลักษณะการจัดวาง และการติดตั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนเมื่อใช้งานครัวในการทำอาหารหรือทำสิ่งต่าง ๆ
กฎ “สามเหลี่ยมทองคำ” หลักการออกแบบครัวเบื้องต้น
ในการออกแบบครัว เราสามารถอิง กฎสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งจะมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน นั่นคือ
- จุดล้างทำความสะอาด
- จุดปรุงอาหาร
- จุดแช่แข็ง / สต็อก
ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะห้องไม่ใกล้หรือห่างกันจนเกินไป เพื่อให้สามารถใช้งานครัวได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การแบ่งโซนสำหรับออกแบบห้องครัว
ตามหลักการแล้วการแบ่งโซนออกแบบห้องครัวจะแยกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วย
โซน A
เป็นพื้นที่ที่ใช้ในการเก็บของ ไม่ว่าจะเป็นของสด ของแห้งต่าง ๆ ดังนั้นอุปกรณ์สำคัญที่จะถูกจัดวางในส่วนนี้คือ ตู้เย็น, ตู้กับข้าว, ชั้นวางของ ซึ่งการนำอุปกรณ์มาจัดวางนั้นควรแยกสัดส่วนให้ชัดเจน ของที่ต้องเก็บด้วยความเย็นกับอุณหภูมิปกติ ลดความเน่าเสียและช่วยให้หยิบใช้งานง่ายขึ้น
โซน B
เป็นพื้นที่สำหรับการล้างทำความสะอาด หลัก ๆ แล้วอุปกรณ์ที่ต้องมีนั้นคือ ซิงค์ล้างจาน ชั้นวางสำหรับพักจาน อุปกรณ์เมื่อล้างเสร็จ แนะนำว่าโซนนี้ให้แบ่งเอาไว้อยู่ใกล้ ๆ กับตู้เย็น เนื่องจากไม่ใช่แค่ตัวจานเท่านั้น ทว่าก่อนทำอาหารวัตถุดิบต่าง ๆ เมื่อหยิบออกมาจากตู้เย็นแล้วต้องมีการล้างทำความสะอาดทุกครั้ง การแบ่งโซนนี้ไว้ใกล้ตู้เย็นจะช่วยให้สะดวก และลดปัญหาความเลอะเทอะได้มากขึ้น
โซน C
เป็นพื้นที่สำหรับเตรียมวัตถุดิบและการปรุงอาหาร ปกติแล้วการออกแบบห้องครัวในโซน C ควรเน้นพื้นที่โล่งที่สุดเพื่อให้ง่ายต่อการทำอาหารด้วยท่าทางต่าง ๆ ซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องมีนั่นคือ เตาแก๊ส, เครื่องดูดควัน และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้เป็นประจำ อาทิ ครก สาก, เครื่องปั่น, หม้อทอดไร้น้ำมัน, ไมโครเวฟ ฯลฯ เป็นการจำกัดพื้นที่สำหรับทำอาหารไม่ให้ความสกปรกหรือคราบต่าง ๆ กระจายออกไปทั่วทั้งครัว
เมื่อเราแบ่งโซนในห้องครัวได้แล้ว เราลองมาดูกันว่า จะจัดครัวในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งมีห้องครัว 6 แบบมาแนะนำเพื่อใช้ประกอบการออกแบบครัวตามการใช้งานของเรา
6 สไตล์การออกแบบห้องครัวที่ได้รับความนิยม
1. Single Wall
หรือบางแห่งจะเรียก One Wall เป็นลักษณะของการจัดวางเครื่องครัวชิดผนังไปในแนวเดียวทั้งหมด รวมถึงบรรดาตู้แขวนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดอยู่กับผนังด้วย เหมาะกับห้องครัวพื้นที่แคบ เช่น ในบ้าน, คอนโด จะช่วยเพิ่มขนาดของห้องครัวให้ดูใหญ่ขึ้น หยิบจับอะไรก็ง่าย
2. Double Gallery
หรือจะเรียก Corridor Kitchen ก็ได้ ลักษณะของการออกแบบห้องครัวจะคล้ายกับแบบแรก แต่ทั้ง 2 แถวของเครื่องครัวจะวางขนานกันไปทั้ง 2 ด้าน เว้นพื้นที่ตรงกลางสำหรับการเดิน เหมาะกับร้านอาหารพื้นที่แคบ และต้องมีการเดินขวักไขว่ตลอด สามารถนำเอาอุปกรณ์ในครัวต่าง ๆ มาจัดวางได้อย่างครบครัน แต่ยังเหลือพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ได้
3. L-Shape
เป็นหนึ่งในแบบห้องครัวที่เห็นได้บ่อยมาก การจะวางจะติดตั้งเครื่องครัวต่าง ๆ ชิดผนัง 2 ด้านให้มีลักษณะคล้ายตัว L มีพื้นที่สำหรับใช้สอยประมาณหนึ่ง เหมาะกับห้องครัวขนาดกลาง และมีอุปกรณ์ วัตถุดิบต่าง ๆ ในการปรุงเยอะกว่า 2 แบบแรก บริเวณกลางห้องจะไม่มีอะไรมาวางกั้นเพื่อความสะดวกในการทำอาหาร
4. U-Shape
ลักษณะในการออกแบบห้องครัวประเภทนี้ก็คล้าย ๆ กับแบบ L เพียงแต่มีการเพิ่มการติดตั้งขึ้นมาอีก 1 ด้าน จึงมีลักษณะคล้ายตัว U (บางคนจะเรียกห้องครัวเกือกม้า) เหมาะกับห้องครัวขนาดใหญ่ พื้นที่เยอะ จึงต้องมีจุดสำหรับการเก็บและจัดวางเครื่องครัวประเภทต่าง ๆ ให้ครบถ้วน จะเป็นร้านอาหารหรือบ้านทั่ว ๆ ไปก็ทำได้
5. Peninsula
ลักษณะในการออกแบบสไตล์นี้อารมณ์จะคล้ายกับห้องครัว L-Shape แต่อีกด้านที่ยังว่างอยู่อาจมีการติดตั้งเครื่องครัวบางอย่างเพิ่ม เช่น โต๊ะพับ, โต๊ะเตรียมอาหาร ซึ่งการใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวจะน้อยกว่าแบบ U-Shape นิยมใช้งานกับห้องในลักษณะสามเหลี่ยม ซึ่งโต๊ะส่วนที่ติดตั้งเพิ่มขึ้นมายังใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การเอาไว้นั่งทานอาหาร
6. Island
ปิดท้ายด้วยการออกแบบที่จะมีโต๊ะหรือเคาน์เตอร์ติดตั้งอยู่กลางห้อง โดยบริเวณด้านข้างจะดีไซน์เป็นรูปตัว L จุดเด่นคือ จะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน เพราะพื้นที่ตรงกลางเวลาหยิบจับของอะไรก็ง่าย ไม่ต้องเดินไปจุดอื่นในครัว แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีพื้นที่ครัวขนาดใหญ่ด้วย
ระยะในการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม
นี่คืออีกสิ่งที่สำคัญในการออกแบบห้องครัวให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะการจัดวางตำแหน่งเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ดี นอกจากช่วยให้สะดวกในการหยิบใช้งานแล้ว ยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยด้วย ซึ่งคำแนะนำเบื้องต้นในการจัดวางมีดังนี้
- เคาน์เตอร์ห้องครัวควรมีขนาดความลึก 60 – 80 ซม. ความสูงตั้งแต่ 90 – 105 ซม. จะอยู่ในระยะการยืนที่เหมาะสม
- ตู้แขวนผนัง ตู้ชั้นลอยต่าง ๆ ให้วัดระยะจากด้านท็อปของเคาน์เตอร์ครัวขึ้นมาอีกราว ๆ 40 – 70 ซม. มีระดับความลึกจากผนังยื่นออกมาราว 20 – 40 ซม. ป้องกันศีรษะไปกระแทกระหว่างทำครัว
- ระยะห่างของเครื่องดูดควันต้องอยู่ห่างจากเตาแก๊สประมาณ 50 – 70 ซม.
- กรณีออกแบบห้องครัวลักษณะ Island Kitchen โต๊ะตรงกลางควรมีระดับความสูงเท่ากับเคาน์เตอร์ครัว และความกว้างโดยรอบไม่ควรเกิน 1 เมตร เพื่อให้การหยิบของต่าง ๆ สะดวกขึ้น
หากเข้าใจเรื่องการแบ่งโซนห้องครัวและการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ จะช่วยให้งานครัวเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะทำอาหารแบบไหนก็สะดวก และปลอดภัยได้เป็นอย่างดี
ทาง เพาเวอร์ สเตนเลส สตีล จำหน่ายและรับออกแบบเครื่องครัวสเตนเลสได้มาตรฐาน หากสนใจสามารถติดต่อเราได้ที่
อีเมล [email protected]
โทรศัพท์ 02-182-1408
หรือแอด Line Official โดยคลิก ที่นี่ หรือสแกน QR Code
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.grundig.com/ktchnmag/blog/the-complete-guide-to-kitchen-layouts/